ความรัก กับ บุพเพสันนิวาสและเนื้อคู่
คู่นั้นมีหลายแบบ ไม่ได้มีแต่คู่เวรกับคู่แท้
คำว่า ‘คู่แท้’ จะทำให้คุณนึกถึงเพศตรงข้ามที่ติดตามกันไปทุกภพทุกชาติ เป็นตัวเป็นตนจับจองกันอย่างถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งธรรมชาติไม่ได้มีอะไรอย่างนั้น ตามกฎเหล็กข้อแรกสุดคือ ‘ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป’
หากหันมาใส่ใจกับคำว่า ‘คู่บุญ’ และ ‘คู่บาป’ แทน อย่างนี้จะเห็นอะไรกระจ่างขึ้น เพราะคนเราทำบุญทำบาปสลับกันได้ ไม่มีใครทำบุญทำบาปร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตลอดไป และนั่นก็แปลว่า คู่บุญอาจหมายถึงคู่ที่ร่วมทำบุญกันมามากกว่าร่วมทำบาป ส่วนคู่บาปก็อาจหมายถึงคู่ที่ร่วมทำบาปกันมากกว่าร่วมทำบุญ
มองอย่างนี้อคติจะลดลงอย่างฮวบฮาบทันที ประเภทขัดเคืองใจนิดหน่อยก็เหมาว่านี่คู่เวรของเรา หรือประเภทต้องตาต้องใจเมื่อเริ่มพบก็เหมาว่านี่แหละคู่แท้ของฉัน เราจะเห็นตามจริงว่า ถ้าต้องตาเมื่อเห็น ถ้าเย็นใจเมื่อใกล้ อันนั้นก็เป็นคะแนนทางความรู้สึกด้านดีชั้นแรก ต่อเมื่อมีความผูกพันผ่านเหตุการณ์ดีร้าย หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ตรงนั้นค่อยเป็นคะแนนสะสมในชั้นต่อ ๆ มา กระทั่งปักใจเชื่อได้ว่าเป็นคู่บุญกันจริง ๆ
ความรู้สึกด้านดีชั้นแรก ในระยะแรกพบสบตานั้น เป็นผลบุญจาก การอยู่ร่วมกันมาก่อนในอดีตชาติ
ส่วนการร่วมทุกข์ร่วมสุข ผ่านเหตุการณ์ดีร้ายต่าง ๆ มาด้วยกัน เป็นบุญใหม่ ที่เกิดจากการเกื้อกูลในปัจจุบันชาติ
ภาพ : ลิขสิทธิ์ Shutter Stock
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ความรักจะเกิดขึ้นไม่ได้
หากปราศจากเหตุปัจจัย
ทั้งอดีตและปัจจุบันประกอบกัน
ไม่ว่าจะเป็น...
ของเก่าหรือของใหม่
บุญที่สร้าง ‘คู่บุญ’ ขึ้นมาจะเหมือนๆกัน พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ได้แก่
๑) มี ศรัทธา ไปในแนวทางเดียวกัน
เช่น ถือศาสดาองค์เดียวกัน เชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องกรรมวิบากด้วยกัน เชื่อว่าโลกกลมหรือโลกแบนเหมือนๆกัน เชื่อแนวทางในการดำรงชีวิตรูปแบบเดียวกัน เป็นต้น
เมื่อ "ศรัทธา" ไม่ตรงกัน ก็คุยเรื่องไม่ตรงกัน
เมื่อคุยเรื่องไม่ตรงกัน ก็คุยกันได้ไม่นาน
เมื่อคุยกันได้ไม่นาน ก็เบื่อกันเร็ว
อันนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นกับทุกรูปนาม ไม่จำเพาะเฉพาะคู่รักเท่านั้น ขนาดเพื่อนกันแต่เชื่อไม่เหมือนกันยังยากที่จะเป็นเพื่อนสนิทเลยครับ ศรัทธาที่ร่วมกันปลูกฝังให้มั่นคงย่อมทำหน้าที่สร้างสายตาที่มองไปในทิศ เดียวกัน ไม่ก่อความรู้สึกเป็นอื่นจากกัน
๒) มี ศีล อันเป็นเครื่องหอมทางใจเสมอกัน
คือ มีความคิดงดเว้นข้อประพฤติผิดแบบเดียวกัน เป็นเหตุให้ไม่รังเกียจหรือหมั่นไส้กัน พรานหนุ่มกับพรานสาวทนกลิ่นอายฆ่าฟันของกันและกันได้ แต่ให้หมอศัลย์ที่มีรังสีช่วยชีวิตมาเป็นคู่ผัวตัวเมียกับมือปืนร้อยศพที่ ทะมึนด้วยรังสีเอาชีวิต อย่างไรก็คงทนกลิ่นอายที่เป็นตรงข้ามของกันและกันไม่ไหว
และนั่นก็เช่นเดียวกัน
ถ้าฝ่ายหนึ่งเจ้าชู้ ร้อยลิ้นกะลาวนไปเรื่อย โดยไม่สนใจความสกปรกหมกมุ่น ย่อมน่ารังเกียจยิ่สำหรับคนใจซื่อ ถือความสะอาดผัวเดียวเมียเดียว
"ศีล" ที่ร่วมรักษาให้บริสุทธิ์ดีแล้ว
ย่อมทำหน้าที่สร้างความอบอุ่น เชื่อมั่นในกันและกัน
สนิทใจ ไว้วางใจกันเป็นมั่นเหมาะ
๓) มี จาคะ อันเป็นวิธีคิดแบ่งปันเสมอกัน
อย่างน้อยต้องเป็นผู้ให้ซึ่งกันและกันในทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่มีแต่ฝ่ายหนึ่งคิดอยู่ข้างเดียว อีกฝ่ายเอาเปรียบตลอด เช่น อีกฝ่ายสละเงินให้ใช้ อีกฝ่ายสละแรงปรนนิบัติ เป็นต้น
การเอารัดเอาเปรียบเกิดจากจาคะที่ไม่เสมอกันเป็นมูล ยิ่งหากต่างฝ่ายต่างคิดเจือจานคนอื่น เห็นข้าวของอะไรไม่ใช้แล้วก็คิดตรงกันว่าน่าบริจาคแก่คนที่เขาไม่มี อย่างนี้ยิ่งไปกันได้ มีโอกาสร่วมบุญกันบ่อยๆ ยิ่งให้คนอื่นมากก็ยิ่งได้ความสุขในการสละมาเสริมใยแก้วร้อยสัมพันธ์ให้กัน แน่นแฟ้นขึ้น
"จาคะ" ที่ร่วมกันยินดีโดยพร้อมเพรียง
ย่อมก่อความรู้สึกซึ้งใจอย่างใหญ่
เหมือนอยู่ด้วยกัน จะเป็นที่พึ่งให้กัน
ปลอดภัยร่วมกัน ประคับประคองกัน ไม่มีวันล้มพร้อมกัน
๔) มี ปัญญา เสมอกัน
กล่าวทางโลก คือ คุยกันรู้เรื่อง
กล่าวทางธรรม คือ มีระดับการเห็นตามจริงใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยเป็นไปไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่พูดคนละภาษา ฝ่ายหนึ่งทำก่อนคิด อีกฝ่ายคิดก่อนทำ หรือฝ่ายหนึ่งเอาอารมณ์พูด อีกฝ่ายพูดด้วยสติปัญญา หรือฝ่ายหนึ่งเห็นชัด ว่าอะไร ๆ ไม่เที่ยง ความยึดมั่นถือมั่นเหลือน้อย แต่อีกฝ่ายหนึ่งแค่เรื่องน้อยก็ยึดมั่นถือมั่นเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ก็คงนึกระอาหรือหมั่นไส้ในกันเป็นอย่างยิ่ง
"ปัญญา" ที่ร่วมเสริมส่งกันและกัน
ย่อมทำหน้าที่สร้างความร่าเริงในการสนทนา
และความไม่พรั่นที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกัน
หากอดีตกาล คุณเคยครองเรือน
กับผู้มีบุญเสมอกันทั้ง ๔ ข้อ
(อาจหย่อนนิดหย่อนหน่อยได้)
ขอเพียงได้มาพบกันในชาตินี้
ก็จะเกิดแรงดึงดูด ที่ก่อความรู้สึกแสนดีอย่างประหลาด
เหมือนเข้ากันได้ทุกอย่าง
เหมือนเห็นกันได้ทุกแง่มุม ด้วยความเข้าใจกระจ่าง
ภาพ : ลิขสิทธิ์ Shutter Stock
จากที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัส ว่าหญิงชายจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า ก็เพราะมีเหตุ คือต่างฝ่ายต่างมีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญาเสมอกัน คำว่า "เสมอกัน" นั้น อย่างน้อยที่สุด คือ ร่วมยินดีไปในแนวความเชื่อเดียวกัน มีใจปรารถนาจะรักษาศีล มีใจอยากสละให้ และอย่างน้อยพูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งเสนอ อีกฝ่ายนอกจากไม่สนองแล้วยังเอาแต่ขัดๆๆ
ยิ่งไปกว่านั้น พระพุทธเจ้ายังเคยตรัสว่า ความรักจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุสองประการ
- ประการแรก คือ เคยอยู่ร่วมกันมาในอดีตชาติ
- ประการที่สอง คือ ชาตินี้ได้เกื้อกูลกัน
นั่นแหละความรักอย่างลึกซึ้งถึงจะเกิดได้
ภาพ : ลิขสิทธิ์ Shutter Stock
มองด้วยข้อสรุปนี้
"คู่บุญตัวจริง" ก็คือ
คนที่เคยคิดดี พูดดี ทำดีต่อกันมาก่อน
รวมทั้งมี "ศรัทธา" ไปในทางเดียว
แข็งแรงใน "ศีล" ข้อเดียวกัน
มี "ใจคิดสละ" ประมาณเดียวกัน
และอย่างน้อยต้อง "พูดกันรู้เรื่อง"
ประมาณเพลิน คุยได้ไม่รู้เบื่อ
แม้เราจะไม่รู้ว่าใคร คือ คู่บุญของเรา แต่หากต้องการเลือกชีวิตคู่ให้เหมาะสมนั้น แนะนำว่าให้ใช้หลักธรรมะ 4 ตัวเป็นตัวตั้ง คือ คนๆ นั้น หรือคู่ชีวิต จะต้องมีศีล จาคะ ปัญญา และศรัทธาที่ใกล้เคียงกับเราด้วย ชีวิตคู่ถึงจะไปด้วยกันได้ดี
สิ่งที่ควรพิจารณา เมื่อคบหากันแล้ว
๑) รู้สึกว่าใช่หรือเปล่า (เป็นเรื่องของสัญญาที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกล้วนๆ)
๒) เกิดแต่เรื่องดีๆเมื่ออยู่ด้วยกันหรือเปล่า (วัดผลของอดีตกรรมที่ให้เป็นวิบากฝ่ายดี)
๓) ร่วมกันเปลี่ยนอุปสรรค หรือเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ได้หรือเปล่า (ดูปัจจุบันกรรมที่เอื้อให้เกื้อกูลร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้แค่ไหน)
๔) เกิดแรงบันดาลใจให้คิด พูด ทำดี ๆ ต่อกันและต่อคนรอบข้างหรือเปล่า (ปัจจุบันกรรมที่จะให้ผลเป็นวิบากอนาคตที่สดใสหรือไม่ คู่ที่จรรโลงใจกันด้วยบุญ เลี้ยงใจกันด้วยบุญไม่ขาดสายเท่านั้น ที่ไม่เบื่อ ไม่แห้งแล้งต่อกันเสียก่อนตาย)
สรุป คือ เข้าคู่กันแล้วรู้สึกดีๆ เกิดเรื่องดี ๆ ก็ใช่เลยครับ และไม่ต้องไปหมายมั่นเอาว่านั่นคือเครื่องแสดงความถาวร เป็นเนื้อคู่นิรันดร์ เพราะสังสารวัฏไม่มีอะไรอย่างนั้นให้ มีแต่เปลี่ยนกับเปลี่ยนครับ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงเท่านั้น
ภาพ : ลิขสิทธิ์ Shutter Stock
เคล็ดลับการทำให้คู่ชีวิตสนใจ
- ถ้าคู่ชีวิตคู่ไหน อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งสนใจ หรือหันมามองตัวเอง ตัวเราต้องฝึกฝนให้ดีเสียก่อน โดยใช้วิธีปฏิบัติธรรม เจริญสติในชีวิตประจำวัน จะทำให้เราได้เห็น และรู้จักตัวเองดีขึ้น รู้จักตัวเองในที่นี้ คือ เวลาเกิดปัญหา จะไม่มอง และโทษคนอื่น หรือเห็นคู่ชีวิตเป็นฝ่ายผิดตลอด
- เมื่อฝึกฝนตัวเองดีแล้ว เช่น คุมอารมณ์ให้อยู่ และเข้าใจความต่างในตัวของคนที่เรารัก จะช่วยให้อารมณ์ดี และใจเย็นขึ้น ใจจะเห็นโลกตามความเป็นจริง และสติจะช่วยให้เรารักษาศีลได้ดีขึ้น มีเมตตาเป็นเครื่องหนุนให้ผู้ปฏิบัติและคนที่อยู่ใกล้ชิดมีความรู้สึกสบายใจ
สรุปว่า ถ้าอยากให้คนอื่นเข้าใจตัวเรา เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่า ณ ขณะนี้ เราคือใคร กำลังทำอะไร ปัญหาเกิดขึ้นเพราะใคร ต้องยอมรับความจริงให้เป็น ที่สำคัญไม่ควรไปรื้อฟื้นอดีตที่เลวร้ายของกันและกันมาเป็นข้อถกเถียง แต่จงอยู่กับปัจจุบัน เพราะจะทำให้มีความสุขมากว่า
ที่มา:
1. ธรรมะเลือกคู่“ศีล-จาคะ-ปัญญา-ศรัทธา” (“ธนาคารความสุขสาขา 2” โดยคุณพิทยากร ลีลาภัทร์)
2.วาทะดังตฤณ ฉบับความรักหลากสี (คุณดังตฤณ)
แหล่งข้อมูล
กระทู้ของคุณสมาชิกหมายเลข 826032 พันทิพดอทคอม
เนื้อหาเรียบเรียงโดย Kaijeaw.com
เครดิต Ture ปลูกปัญญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น