วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

มองโลกให้ดีวันละนิด ชีวิตมีสุข (Positive Thinking)

มองโลกให้ดีวันละนิด ชีวิตมีสุข (Positive Thinking)

มองโลกให้ดีวันละนิด ชีวิตมีสุข (Positive Thinking)
John Milton (พ.ศ. 2151-2217) กวีเอกชาวอังกฤษ
กล่าวว่า "จิตมนุษย์ทำให้นรกเป็นสวรรค์ ก็ได้ทำสวรรค์ให้เป็นนรกก็ได้" 
เป็นการสอนให้เรารู้ว่ามนุษย์มี จำพวก พวกหนึ่งมองโลกในแง่ดี แง่บวก 
มองว่าทุกปัญหามีหนทางแก้ไขได้ ส่วนอีกพวกหนึ่งมองโลกแง่ลบ หมดหวัง ท้อแท้ เบื่อหน่าย
คล้ายกับว่าทุกหนทางมีปัญหาท่านที่ผ่านชีวิตมาพอสมควร 
คงจะสังเกตุความจริงเหล่านี้ได้ และพิจารณาดูชีวิตของเราเอง เราก็คงจะบอกได้ว่าเราเป็นคนประเภทใด 
หรือมีส่วนประสมของสองลักษณะเข้าด้วยกัน 
บางช่วงก็มองโลกในแง่ดีมีความหวังมากแต่พอประสบความผิดหวังในบางเรื่อง ก็พาลจะท้อแท้ยอมแพ้เอาง่าย ๆ 
และพาให้เริ่มมองโลกในแง่ลบไป 
จนกระทั่งมีคนเตือนสติหรืออ่านข้อคิดของคนบางคนที่ตกในที่นั่งลำบากกว่าเราเขายังฮึดสู้ จนพบความสำเร็จในที่สุด
มีคำกลอนของหลวงวิจิตร วาทการ กล่าวไว้ดังนี้

เป็นการง่าย ยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมือชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชม นิยมกัน
ต้องใจมั่น ยิ้มได้เมื่อภัยมา

คนที่จะมั่นใจ ยิ้มได้เมื่อภัยมานั้น ต้องฝึกหัดตัวเอง ให้คุ้นเคยกับความจริงของชีวิต ว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลง ไม่เที่ยง

เราจึงไม่ควรยึดมั่นกับสภาวะใด สภาวะหนึ่ง แต่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ตีโพยตีพาย ตีตัวไปก่อนไข้ 
แต่พยายามมีสติ รู้เท่าทันอยู่เสมอ ทำใจให้นิ่ง แล้วรวบรวมสติปัญญา
เพื่อแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ให้บรรเทาเบาบางลงหรือหมดไป

มีเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอเมริกา สมัยสงครามกลางเมือง
มีเจ้าของฟาร์มอยู่ในชนบท เลี้ยงม้าที่สวยงามไว้หลายตัว 
วันหนึ่งม้าตัวโปรดหายไปในป่า ทั้งเจ้าของฟาร์มและบุตรชายก็รู้สึกเสียดายมาก ออกติดตามหาก็ไม่พบ
แต่ผ่านไปประมาณ 4-5 วัน ม้าดังกล่าวก็กลับมาเอง พร้อมกับมีม้าป่าตามมาด้วยตัวหนึ่ง 
ทุกคนรู้สึกดีใจว่าโชคร้ายกลับกลายเป็นดี ลูกชายเจ้าของฟาร์มอยากจะลองขี่ม้าป่าที่ตามมา พยายามจะฝึก แต่ม้าป่าก็พยศมาก
จนในที่สุดลูกชายเจ้าของฟาร์มก็ตกม้าขาหัก เข้าเฝือก และเดินกระเผกเสียความสง่างามไป ก็รู้สึกว่าโชคดี ก็กลับเป็นโชคร้ายอีก
แต่ไม่นานหลังจากขาหักก็มีการเกณฑ์เอาคนหนุ่มไปเป็นทหารออกรบในสงครามกลางเมือง แต่เนื่องจากขาหัก-พิการ จึงถูกยกเว้น 
ปรากฏว่าหารที่ไปออกรบเสียชีวิตหมด จึงรู้สึกว่าการตกม้าขาหักก็ทำให้กลายเป็นโชคดี ไม่ต้องไปรบ 
ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเช่นทหารคนอื่น ๆ

เรื่องดังกล่าวข้างต้นสอนเราให้มองทุกอย่างว่ามี ด้านปนกันเสมอ 
โชคดีก็มาพร้อมกับโชคร้าย และโชคร้ายก็อาจกลายเป็นโชคดีก็ได้
ดังนั้นเราจึงควรทำใจให้เป็นกลาง ๆ ยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยใจเป็นกลาง 
ไม่วิตกกังวลถึงอนาคต แต่ก็ไม่ประมาทและทำชีวิตวันนี้ให้ดีที่สุด 
เพื่อให้วันนี้กลายเป็นวันวานที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในที่สุดเราก็ได้สะสมวันวานที่ดีมากขึ้น บวกกับวันนี้ที่คิดดีทำดี มีความหวังเพิ่มขึ้นทุกวัน 
ก็จะเป็นแรงพลักดันไปสู่อนาคตที่ดีมีความสุขสมหวัง อย่างแน่นอน

กล่าวนำอรัมภบทมาพอสมควร แต่ก็ยังมีคนขี้สงสัย ตั้งคำถามว่าทำไมต้องหัดคิดในทางบวกซึ่งพอจะตอบได้ดังนี้

1. 
ชีวิตคนเราสั้นนัก 
ประมาณ 70-80 ปี โดยเฉลี่ย ถ้ากรรมพันธุ์อายุยืนยาว และเรียนรู้ดูแลสุขภาพกายและจิตดี ๆ ก็มีสิทธิที่จะอยู่ถึง100 ปีได้

แต่ก็ด้วยความลำบากลำบนดังนั้นชีวิตที่มีอยู่ไม่ยาวนานนัก 
เฉพาะคิดแค่ด้านดี ๆ ก็มีเวลาไม่มาก จึงไม่ควรเสียเวลาไปคิดสิ่งที่ร้าย ๆ 
ทำให้เกิดความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น เป็นการลดคุณภาพของวันคืนที่เรามีเหลืออยู่
มีประโยคภาษาอังกฤษกล่าวสอนเราว่า "It's better to add life to your years than to add years to your life"
แปลทำนองว่า เพิ่มคุณภาพให้ชีวิตดีกว่าเพิ่มปริมาณหรือจำนวนปีให้ชีวิต

2. 
คุณเป็นอย่างที่คุณคิด
คุณคิดว่ามีทางเป็นไปได้ คุณก็พยายามจนพบหนทาง 
แต่ถ้าเริ่มต้นก็บอกไว้ก่อนว่าเป็นไปไม่ได้ มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ (สำหรับคุณ) 
คนจีนจึงมีคำพูดที่สอนลูกหลานว่า "ถ้าคุณเริ่มเดินไปก็เริ่มเห็นทางชัดเจนขึ้น" 
สมัยก่อนเวลาไปไหนใหม่ ๆ ก็เป็นป่ารก แต่พอคุณเริ่มเดินบ่อยเข้า ทางก็เริ่มเกิดแนวชัดเจนและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
สุภาษิตสเปนก็สอนไว้ว่า "If you cannot build a castle in the air , you cannot build it any where" 
แปลทำนองว่า ถ้าคุณไม่กล้าคิดสร้างวิมานในอากาศก่อน คุณก็ไม่สามารถสร้างความสำเร็จที่ไหนได้เลย
หมายความว่าคุณต้องกล้า คิดกล้าฝันก่อนว่าเป็นไปได้ จึงจะเป็นไปได้ในชีวิตจริง 

3. 
การคิดในทางบวก
เริ่มต้นที่การเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่นและธรรมชาติ 
ทำให้เห็นความดีของตนเอง ของผู้อื่นและธรรมชาติที่แวดล้อมเรา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ทำให้สามารถชื่นชมสิ่งดี ๆ มีความสุขใจมากกว่าทุกข์ใจ มีเพื่อนมากกว่ามีศัตรู มีสุขภาพมากกว่าโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ชัดเจนขึ้นว่า 
คนที่มองโลกในแง่บวกจะสุขใจและมีอายุยืนยาวกว่าการที่มองโลกในแง่ลบ เพราะความสุขใจหรือความปิติที่เกิดขึ้นนั้นจะกระตุ้นสมองให้หลั่ง "สารสุข" หรือ "Endorphine " ออกมา 
ทำให้แก้ปวด คลายเครียด เพิ่มภูมิต้านท่านโรคแก่ร่างกาย กินได้ นอนหลับดี สุขภาพโดยรวมก็ย่อมดีขึ้น
ตรงกันข้ามคนที่เครียดตลอดเวลา จะหลั่ง "สารทุกข์" คือ Adrenaline ออกมามาก 
ก็จะกระตุ้นให้ใจสั่น นอนไม่หลับ ท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และมักจะเกิดโรคแทรก หรือโรคจิต ประสาทขึ้นมาได้
บางคนเกิดภาวะซึมเศร้า ถึงกับฆ่าตัวตายได้

หลวงจิจิตร วาทการ จึงสอนเราในโคลงกลอนอีกตอนหนึ่งว่า
สองคนยนตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวพราวแพรว

4. Positive Thinking 
เป็นของฟรี
แทบไม่ต้องลงทุนเลย แต่สามารถนำไปเพิ่มคุณค่าแก่ชีวิตทุก ๆ ด้าน 
เพียงแต่เรา เราต้องเริ่มต้นและฝึกหัด จากสิ่งที่ใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวัน 
เช่นการฝึกใช้คำพูดในทางบวก และมีความเชื่อมั่นเสมอ เช่นแทนที่จะพูดว่า "ผมจะพยายามเลิกบุหรี่ให้ได้"
เราควรพูดให้หนักแน่นว่า "ผมต้องเลิกบุหรี่ให้ได้"
ขณะเดียวกันเราต้องเลี่ยงคำพูดที่ดูถูกตนเอง เช่น "ผมเป็นแค่คนขายของชำ จะไปช่วยสังคมได้อย่างไร" 
เราอาจพูดว่า "ผมขายของชำ แต่ผมก็มีส่วนในการพัฒนาชุมชนของเรา"
เมื่อฝึกบ่อย ๆ เข้า เราก็จะเห็นโอกาส และสิ่งดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ในคนข้างเคียง และในสิ่งแวดล้อมของเรา
เช่นมีคนพูดว่า "ในน้ำเน่า ยังมีเงาจันทร์"
หรือ "ศิลปินไม่หมิ่นศิลปะ กองขยะมองดี ๆ ยังมีศิลป์"
ในภาษาอังกฤษมีประโยคที่มีความหมายคล้ายกันคือ Every cloud have a silver lining.

5. Positive Thinking 
เป็นปฏิกิริยายาลูกโซ่
ที่ทำให้คนข้างเคียงเกิดการเลียนแบบ มีผลต่อการพัฒนาตัวเราเองและคนข้างเคียงเกิดการเลียนแบบ 
มีผลต่อการพัฒนาตัวเราเอง และคนข้างเคียงและสังคมโดยรวม 
นอกจากนั้นยังมีผู้กล่าวว่า ความคิดของคนเราที่คิดด้วยความเชื่อมั่นในทางบวก
เหมือนมีกระแสแม่เหล็กที่ถึงคนที่คิดในลักษณะเดียวกันให้เข้ามาหากัน 
เกิดเพิ่มกลุ่มแกนที่คิดในทางบวกมาเสริมกัน ทำให้มีพลังขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี

จิตแพทย์ อลัน ลอยด์ แมกกิมพัส 
ได้ศึกษาคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต 
พบความจริงว่าส่วนใหญ่ เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างโชกโชน 
แต่ไม่ยอมท้อถอย พยายามกระตุ้นตนเองให้ผ่านภาวะวิกฤต 
ได้รวบรวมแนวคิดและวิธีของคนเหล่านั้น ดังนี้คือ

1. เปลี่ยนความล้มเหลว ให้เป็นโอกาส
เช่น ชายคนหนึ่งพนักงานขายของบริษัทรองเท้าแห่งหนึ่ง
ทางบริษัทส่งเขาไปขายรองเท้า ณ เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวเกาะยังไม่รู้จักใส่รองเท้า 
เขากลับมารายงานผู้จัดการด้วยความข้องใจว่า 
"เราคงขายของไม่ได้ เพราะชาวเกาะเขายังไม่รู้จักใส่รองเท้าเลย" 
ผู้จัดการจึงให้ซองขาว ให้เขาลาออกไปหางานอื่น และส่งพนักงานคนใหม่ ไปยังเกาะดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง 
พนักงานคนที่สองก็กลับมารายงานด้วยความตื่นเต้นว่า 
"ผู้จัดการครับ ชาวเกาะนี้ยังใส่รองเท้าไม่เป็น เราต้องรีบเข้าไปสอนเขาให้ใส่รองเท้าเป็น แล้วเราจะได้ครองตลาดเป็นบริษัทแรก"


วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยยุค IMF เมื่อฟองสบู่แตก 
ก็น่าเป็นโอกาสให้คนไทย และองค์กรที่รับผิดชอบสังคมและเศรษฐกิจได้มาทบทวนข้อผิดพลาด และเดินแนวทางใหม่
เพื่อเราจะได้ก้าวเดินต่อไปด้วยความมั่นคง

วิกฤตการแพร่ระบาดของยาบ้าและสิ่งเสพย์ติดอื่นๆ 
ทำให้มีการลงทุนให้นักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาศึกษาเรื่องของสมองและยาเสพย์ติด 
ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ที่อาจนำไปสู่การรักษายาเสพย์ติด
โรคจิต โรคประสาท และเข้าใจเรื่องสมองและจิตใจมนุษย์ได้ดีขึ้น
2. จงสนใจเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นไปได้
คนบางคนชอบซัดทอดความผิดไปที่คนอื่น ซึ่งเราเข้าไปแก้ไข ควบคุมได้ยาก 
แต่ถ้าวิเคราะห์ความผิดพลาดล้มเหลวแล้ว
ควรจะตั้งคำถามว่า มีอะไรที่เราสามารถทำได้ และช่วยแก้สถานการณ์ให้กลับดีขึ้นมาได้
โทมัส คาร์ไลล์ เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ 
เขียนต้นฉบับเกี่ยวกับ "ประวัติของการปฏิวัติฝรั่งเศส" 
วันหนึ่งคนรับใช้ ได้เผลอทำต้นฉบับซึ่งมีอยู่ชุดเดียวไปทิ้งไฟ
ทำให้เขารู้สึกหมดอาลัยตายอยากในชีวิต 
แต่ต่อมาเขาก็หักใจได้ แล้วค่อย ๆ มาเริ่มต้นเขียนใหม่ คำต่อคำ ประโยคต่อประโยค 
จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่เล่มหนึ่ง
3. การไปพักผ่อนหรือเปลี่ยนวิถีชีวิต
เช่นไปเดินท่ามกลางธรรมชาติ สูดกลิ่นไอดิน กลิ่นหญ้าฟาง
เดินลุยน้ำกลางลำธาร ภายใต้สายลม แสงแดด ฟังเสียงนกร้อง 
สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้รับการฟื้นฟู ท่านอาจจะ
หายจากความดันโลหิตสูง โรคนอนไม่หลับ หรือโรคอ่อนเพลียเรื้อรังได้
เมื่อร่างกายรู้สึกสดชื่น จิตใจ และวิญญาณย่อมได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน
ความคิดที่ออกมาก็เป็นความคิดในทางบวก ที่มีพลังสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
4. จงช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ลำบากกว่าเรา
จะช่วยให้เราลืมความทุกข์ที่รุมเร้า และมีชัยชนะโดยง่าย
เช่น คนไข้รายหนึ่ง ค้าขายวัสดุก่อสร้างด้วยความขยัน 
วันหนึ่งเกิดไฟไหม้โกดังสินค้าเสียหาย ขาดทุนมากมายเป็นความทุกข์ที่ทำให้ผู้ป่วยมี
อารมณ์ซึมเศร้ามาก และหลายครั้งอยากฆ่าตัวตาย
ในช่วงนั้นประมาณปี พ.ศ.2530 เกิดพายุถล่มหมู่บ้านชายทะเลจังหวัดชุมพร
บ้านเรือนพังพินาศหมด และสวนมะพร้าวล้มลงไปนอนกับพื้นดินเสียหายหมด 
คนที่เคยมีรายได้ดีจากสวนมะพร้าวก็หมดเนื้อหมดตัว และไม่มีบ้านพักพิงกายด้วย
ผู้ป่วยรายนี้ได้เห็นความทุกข์ของชาวชุมพรดังกล่าวแล้ว ก็ทำใจได้กับความทุกข์ของตนเอง 
จึงหยุดที่จะนำอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วมาซ้ำเติมปัจจุบัน ให้มีทุกข์ซ้ำซากต่อไปอีก
5. จงนับส่วนที่ท่านมี อย่านับส่วนที่ท่านขาด
ในชีวิตจริงนั้น คนส่วนใหญ่มีส่วนที่ดี และส่วนที่บกพร่อง และส่วนที่มีส่วนที่ขาด
คละกันไป แต่วิธีมองนั้นทำให้คนมีชีวิตที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
คนที่มองส่วนที่มีก็จะรู้จักชื่นชมยินดี ส่วนคนที่มองแต่ส่วนที่ขาดก็จะนำไปเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่า 
ทำให้เกิดความอิจฉา เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ 
เช่นคนหนึ่งบ่นน้อยใจที่ตนเองไม่มีเงินซื้อรองเท้าดี ๆ มาใส่ ใส่แต่รองเท้าเก่า ๆ ขาด ๆ 
จนกระทั่งวันหนึ่งไปเห็นคนที่ไม่มีแม้แต่เท้า (คนขาด้วน) จะใส่รองเท้า จึงเลิกบ่นเรื่องรองเท้าเก่าของตนเอง
ผู้เขียนเชื่อว่าตัวอย่างและมุมมองของหลายท่านที่กล่าวถึง 
คงจะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นศักยภาพของท่านเอง และผู้คนรอบด้าน
อันจะทำให้ท่านมีพลังที่จะผลักดันชีวิตไปสู้ความสำเร็จ และสุขสมหวังดังตั้งใจ 
และชีวิตของท่านเป็นตำนานอีกเล่มหนึ่งที่เติมไฟให้อีกหลายชีวิต 
ที่ตามท่านไปสู้ความสำเร็จเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น