วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฉลาดเกมส์โกง

เรื่องย่อ ฉลาดเกมส์โกง

"ฉลาดเกมส์โกง" เรื่องราวของเด็กฉลาด กับภารกิจโกงข้อสอบ เปลี่ยนกระดาษคำตอบให้เป็นเงินล้าน ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่ "ธุรกิจกลางสนามสอบ" ของ ลิน (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) นักเรียนทุนเจ้าของเกรดเฉลี่ย 4.00 ทุกปีการศึกษา ธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากการช่วยเพื่อนสนิทอย่าง เกรซ (อุ้ม อิษยา ฮอสุวรรณ) เด็กกิจกรรมตัวยงแต่ผลการเรียนย่ำแย่ และ พัฒน์ (เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) เด็กบ้านรวยที่คิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ด้วยการแชร์คำตอบกลางห้องสอบ จนกลายเป็นวงการลอกขนาดใหญ่ ที่นักเรียนหลายคนในโรงเรียนยินดีจ่ายค่าตอบแทนแบบสูงลิบ แลกกับการได้รับคำตอบจากอัจฉริยะอย่างลิน



           เงินในบัญชีของลินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากธุรกิจการโกงสอบในโรงเรียน จากหลักหมื่นเป็นหลักแสน จนวันหนึ่งเธอก็มีโอกาสที่จะอัพเงินในบัญชีให้แตะหลักล้าน เมื่อพัฒน์และเกรซยื่นข้อเสนอสุดท้าทายให้เธอ นั่นคือการโกงข้อสอบ STIC ซึ่งเป็นการสอบเพื่อใช้คะแนนยื่นเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ที่นักเรียนทุกประเทศต้องสอบในเวลาเดียวกัน โอกาสในการลอกให้รอดเท่ากับศูนย์ แต่ลินก็ยอมเสี่ยงเพื่อแลกกับเงินล้าน ด้วยการบินไปสอบในประเทศที่เวลาเร็วกว่าเมืองไทย เพื่อที่จะได้เห็นข้อสอบก่อน และส่งคำตอบกลับมาให้ลูกค้าในเมืองไทย ปัญหาเดียวก็คือเธอต้องการคนฉลาดอีกหนึ่งคนมาช่วยให้ภารกิจการโกงครั้งนี้สำเร็จ และคนๆ นั้นก็คือ แบงค์ (นน ชานน สันตินธรกุล) นักเรียนทุนคู่แข่งของเธอ ผู้เกลียดการโกงเป็นชีวิตจิตใจ ลินจะทำอย่างไรให้แบงค์ตกลงร่วมมือกับเธอ และเกมส์โกงข้ามโลกนี้จะจบลงอย่างไร


หนังเริ่มต้นนำเสนอการลอกข้อสอบในประเด็นเล็กๆก่อนแล้วค่อยขยายสเกลไปไกลจนมันถูกพัฒนาเป็นธุรกิจ  ระหว่างทางการไต่ระดับความพีคของการโกงข้อสอบนั้น หนังก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงประเด็นอื่นๆที่ช่วยตอกหน้าระบบการศึกษาในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกวดวิชาที่นับวันมันยิ่งสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยว่าหลายคนเลือกที่จะเรียน "เพื่อสอบ" มากกว่าเรียน "เพื่อรู้" จะว่าไปก็ระบบมันก็คัดคนเก่งจากคะแนนสอบซะเป็นบ้าเป็นหลังขนาดนี้ งานนี้ก็เลยไม่รู้ว่าจะโทษใคร? 


อย่างไรก็ดี ฉลาดเกมส์โกง ไม่ได้มาตีแผ่เด็กขี้โกงหรือชี้นำเทคนิคการโกงข้อสอบ หรือ how to เปลี่ยนกระดาษคำตอบให้เป็นเงินล้านให้เด็กนักเรียน แต่เขาตั้งใจเน้นตีแผ่ระบบการศึกษาไทย ค่านิยมด้านการศึกษา และระบบทุนนิยมในสังคมไทย เช่น
  • เกรดเฉลี่ยและคะแนนที่สูงเป็นใบเบิกทางให้ทุกอย่าง เสมือนเป็นสิ่งเดียวในจักรวาลที่ชี้วัดคุณค่าของเด็กได้
  • พ่อของลินยอมส่งเสียลูกเรียนโรงเรียนแพง ๆ เพราะโรงเรียนนั้นมีทุนให้เด็กไปเรียนต่อเมืองนอกเยอะ (แต่เราก็งง ๆ นะ พ่อนางบอกว่าที่รร.นี้มีทุนเยอะ แต่ ผ.อ. กลับบอกให้ ลิน กับ แบงค์ แย่งทุนเรียนต่อที่สิงคโปร์กันเอง เพราะมีให้แค่ทุนเดียว)
  • จะส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ แพง ๆ ไม่ได้ต้องจ่ายแต่ค่าเทอม แต่ต้องจ่ายค่าแปะเจี๊ยะหรือเงินปากถุงหลักหมื่นหลักแสนกันอีก ซึ่งค่าเหล่านี้มักมาในรูปแบบของ ‘ค่าบำรุงรักษาสถานศึกษา’
  • ครูที่เพิกเฉยกับการทุจริตของนักเรียน
  • ครูที่ยกย่องและให้อภิสิทธิ์เด็กเรียนดีเหนือกว่าเด็กคนอื่น เพราะเด็กเหล่านี้จะสร้างชื่อเสียงให้รร.
  • ครูในรร.ที่สอนพิเศษวิชาตัวเองแล้วออกข้อสอบเหมือนที่ตัวเองสอนพิเศษเด๊ะ ประมาณว่า ใครจ่ายเงินเรียนพิเศษกับกู ก็โชคดีไป
นอกจากนั้น หนังยังพยายามสอดแทรกประเด็นเรื่อง “ทางเลือก” ว่า ถึงแม้ต้นทุนชีวิตอาจไม่เท่ากัน แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถเลือกได้หรือเปล่า ชีวิตเรามีทางเลือก ก. ข. ค. ง. จ. หรือเปล่า

ไม่รู้สิ รู้สึกยังไม่ชอบตอนจบของหนังเท่าไหร่ มันน่าจะมีอะไรมากกว่านี้น่าจะฉีกไปไม่ใช่พูดเฉพาะในแง่ของเด็ก ฉลาด 2 คนอย่างเดียว เหมือนหนังเชพตัวเองอยู่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น