วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563

เจ้าพ่อพระยาแล (ในวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ท้าวสุรนารี)

พระยาภักดีชุมพล (แล) ในวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ท้าวสุรนารี

พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ คนแรก ชาวเมืองชัยภูมิ นิยมเรียกขานท่านด้วยความยกย่องนับถือว่า "เจ้าพ่อพญาแล" ปฐมบรรพบุรุษตระกูล “ภักดีชุมพล”

ประวัติความเป็นมา
ตามหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่า พระยาภักดีชุมพลเดิมชื่อ "ท้าวแล" เป็นชาวนครเวียงจันทน์ เคยรับราชการอยู่ในวัง ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยง “เจ้าราชบุตร (โย้)” พระโอรสของ “เจ้าอนุวงศ์” กษัตริย์ลาวองค์สุดท้ายเมืองเวียงจันทน์ แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย)

ในสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2360 ท้าวแล คิดออกไปหากินด้วยตัวเอง จึงออกจากเวียงจันทร์ โดยได้อพยพครอบครัวพาบริวาร ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน (ปัจจุบันเป็นบ้านหนองขุ่น ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา) (อีกที่มาระบุว่า ปัจจุบันเป็นบ้านหนองขุ่น บ้านสีจาน อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา / ที่มา - เนตรนิมิต)*

ในปี พ.ศ.2362 ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ) ท้าวแลเป็นผู้มีความสามารถ วิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์สุจริต และมีบุคลิกลักษณะพิเศษกว่าบุคคลอื่นๆ จึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า ท่านปกครองในลักษณะพ่อปกครองลูก พี่ปกครองน้อง สั่งสอนให้มีความสามัคคีปรองดอง ต้องช่วยกันทำมาหากิน โดยให้เหตุผลว่าการสร้างบ้านสร้างเมืองนั้นราษฎรจะต้องมีอยู่มีกินและเป็นสุข การสร้างเมืองจึงถือว่าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความวิริยะอุตสาหะ คุณงามความดีของผู้เป็นหัวหน้า ท้าวแลจึงรวบรวมไพร่พลได้ 12 หมู่บ้านในขณะนั้น ชาวบ้านในครั้งนั้นจึงพร้อมใจกันยกย่องเชิดชูให้ท้าวแลเป็นหัวหน้าผู้ปกครอง...นับเป็นการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก

ฝ่าย “นางบุญมี” ผู้เป็นภรรยาของท้าวแล เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและชำนาญในการถักทอผ้า ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้ติดตัวมาจากบรรพบุรุษ ก็มิได้นิ่งดูดายได้พยายามฝึกอบรมชาวบ้านให้รู้จักทอผ้า ทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกินดีขึ้น ท้าวแลเห็นว่าราษฎรของตนมีอยู่มีกินแล้วก็มิได้ลืมบุญคุณของเจ้านายเดิม จึงได้รวบรวมส่วยเครื่องราชบรรณาการนำไปถวาย “เจ้าอนุวงศ์” แห่งเมืองเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ได้ปูนบำเหน็จความชอบแต่งตั้งท่านให้เป็นที่ “ขุนภักดีชุมพล” นายกองนอก ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับหัวหน้าคุมหมู่บ้านขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์

ในปี พ.ศ.2365 ขุนภักดีชุมพลได้ย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านหนองหลอดกับบ้านหนองปลาเฒ่า (ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) เนื่องจากสถานที่เดิมเริ่มคับแคบ ไม่พอกับจำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ชื่อเสียงกิตติศักดิ์ คุณงามความดีของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป จนมีผู้คนให้ความเคารพและอพยพเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวกเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์เกิดความสงสัย ท่านก็อาศัยความชาญฉลาดทูลให้เจ้าอนุวงศ์หายสงสัยได้

ในปี พ.ศ.2367 การที่ได้พบบ่อทองที่บริเวณลำห้วยชาด นอกเขตบ้านหลวง ขุนภักดีชุมพล จึงได้นำทองในบ่อนี้ไปส่งส่วยแก่เจ้าอนุวงศ์ และขอยกฐานะบ้านหลวงขึ้นเป็นเมือง เจ้าอนุวงศ์จึงประทานชื่อเมืองแก่ขุนภักดีชุมพลว่า “เมืองไชยภูมิ” (ไชยภูมิ์) และเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระภักดีชุมพล ทว่าต่อมาพระภักดีชุมพลได้ขอเอาเมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยแก่กรุงเทพมหานครแทน ไม่ขึ้นแก่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป เพราะเห็นว่าเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราชขี้นต่อกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว

จึงเข้าหา “เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)” เจ้าเมืองนครราชสีมา ขอมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และอาสาส่งส่วยเก็บผลถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการให้ทางกรุงเทพฯ แต่บัดนั้นมา ความดีความชอบในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงเป็น "เมืองชัยภูมิ" และแต่งตั้งพระภักดีชุมพล (แล) เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก

เหตุการณ์นี้จึงสร้างความไม่พอใจแก่ทางฝ่ายเวียงจันทน์อย่างมาก อีกทั้งสร้างความลำบากใจแก่พระยาภักดีชุมพล (แล) ไม่น้อย เนื่องด้วยท่านเป็นคนเชื้อสายลาวจากเมืองเวียงจันทน์ เคยเป็นข้าราชสำนักใกล้ชิด มีความสนิทสนมและจงรักภักดีต่อเจ้าอนุวงศ์มาก่อน แต่ในขณะเดียวกันเมืองชัยภูมิก็ตั้งอยู่ใกล้เขตแดนของสยาม ท่านจึงยินยอมให้สยามปกครอง

ในปี พ.ศ.2369 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระยาภักดีชุมพล (แล) ก็ได้นำทองคำเป็นส่วยเครื่องราชบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้โปรดรับสั่งกับพระยาภักดีชุมพล (แล) ว่า “ให้ตั้งใจปฏิบัติราชการปกครองรักษาบ้านเมืองไว้ให้ดี”

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เมื่อเห็นว่าพระยาภักดีชุมพล (แล) ตีตัวออกห่าง จึงไม่พอใจอย่างมาก เริ่มคิดก่อการกบฏเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช มีการซ่องสุมไพร่พล เสบียงอาหารและอาวุธ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ นี้เอง เจ้าอนุวงศ์ และเจ้าราชบุตร (โย้) พระโอรสผู้ครองเมืองจำปาศักดิ์ ได้ก่อการกบฏยกทัพล่วงล้ำเข้ามาบนเขตแดนสยามหมายตีกรุงเทพฯ แล้วเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน (หัวเมืองลาวอีสาน) ให้ยอมเข้าร่วมทัพด้วย โดยหลอกหัวเมืองต่างๆ ว่าที่เดินทัพผ่านมาก็เพื่อเข้ามาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นสยามกำลังพิพาทกับอังกฤษเรื่องแนวเขตแดนด้านพม่าและมลายู ทำให้กองทัพของเจ้าอนุวงศ์สามารถเดินทัพผ่านมาได้โดยสะดวก หากเจ้าเมืองใดทราบความจริงและต่อต้านก็จะสังหารเสีย จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา ไม่อยู่ว่าราชการ

ต่อมาเมื่อความแตก ทั้งเหนือและใต้รู้ชัดว่าเจ้าอนุวงศ์คิดก่อการกบฏกู้อิสรภาพจากสยาม เจ้าอนุวงศ์จึงถอนทัพโดยได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาและยึดทรัพย์สินเพื่อนำกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ “คุณหญิงโม” ภรรยาพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนไปด้วย เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่ง ‘วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์’ ที่ยังเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ขณะพักทัพอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย เกิดความปั่นป่วนหญิงชายชาวเมืองนครราชสีมาที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้...

ฝ่าย “พระยาภักดีชุมพล (แล)” พิจารณาเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ เจ้านายเดิมของตนทำไม่ถูกต้อง แม้ท่านจะเป็นชาวเวียงจันทน์แต่ก็มีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์แห่งสยามยิ่งนัก ท่านพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบช่วยคุณหญิงโม และครัวเรือนชาวเมืองนครราชสีมา ทำการตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่ายไป กระทั่งฝ่ายสยามสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด แต่ในขณะที่ทัพเจ้าอนุวงศ์ล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาก็ได้จุดไฟเผาบ้านเมือง รื้อกำแพงเมืองออก ฯลฯ ครั้นเมื่อเห็นว่าจะทำการต่อไปได้ไม่ตลอด ไม่มีทางจะสู้แล้ว เจ้าอนุวงศ์จึงสั่งให้ “เจ้าสุทธิสาร (โป๋)” ผู้เป็นพระโอรสองค์โต ยกกำลังส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมา แล้วให้ไปยึดเมืองชัยภูมิและเมืองภูเขียว อันเป็นด่านสุดท้ายไว้เป็นกำลังต่อต้านทัพกรุงเทพฯ เพราะด่านอื่นๆ ที่เจ้าอนุวงศ์ยึดครองไว้แต่แรกได้แตกพ่ายไปหมดสิ้น

เมื่อทัพเจ้าสุทธิสาร (โป๋) ยกมาถึงเมืองชัยภูมิ ได้เกลี้ยกล่อมพระยาภักดีชุมพล (แล) ให้เข้าร่วมก่อการกบฏด้วย แต่ท่านไม่ยอมเข้าร่วมด้วยเพราะยังมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์แห่งสยามอยู่ เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นที่พระยาภักดีชุมพล (แล) ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับฝ่ายลาว ซ้ำยังยกทัพมาช่วยฝ่ายสยามตีกระหนาบทัพลาวอีกด้วย จึงส่งทหารกองหนึ่งย้อนกลับมาเมืองชัยภูมิ ให้ไปจับตัวพระยาภักดีชุมพล (แล) และสั่งว่าไม่ต้องนำตัวมาให้เห็นหน้า ให้นำไปประหารเสีย (ถ้านำมาให้เห็นหน้า จะไม่กล้าสั่งประหาร เพราะเคยเป็นพี่เลี้ยงตนเอง)* ทหารก็ไปจับกุมตัวพระยาภักดีชุมพล (แล) ในเมืองชัยภูมิได้โดยง่าย ซึ่งท่านก็ไม่ขัดขืนยินยอมให้จับเสียโดยดี เพราะมีกำลังพลน้อยกว่าและไม่ประสงค์จะให้ไพร่พลของตนต้องมาล้มตาย และคาดว่าถ้าไปถึงเจ้าอนุวงศ์แล้ว คงไม่สั่งประหารเพราะเคยเป็นพี่เลี้ยงกันมา แต่คาดผิด* ทหารได้นำตัวพระยาภักดีชุมพล (แล) ไปประหารชีวิต ที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่หรือมะขามเฒ่า ริมหนองปลาเฒ่า

การเสียชีวิตของพระยาภักดีชุมพล (แล) ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวเมืองชัยภูมิจดจำตลอดมา และระลึกถึงว่าเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญของท่าน...ประชาชนในครั้งนั้นได้ยกย่องเชิดชู จึงขนานนามท่านด้วยความเคารพว่า “เจ้าพ่อพญาแล” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่...ตั้งแต่นั้นมามักเรียกขานพระยาภักดีชุมพล (แล) ว่า “เจ้าพ่อพญาแล”

ต่อมาได้มีการจัดสร้างศาลเพียงตา ศาลไม้เล็กๆ ขึ้นไว้ตรงบริเวณที่ท่านถูกประหารชีวิต ที่ชุมชนหนองปลาเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๕ (ชัยภูมิ-บ้านเขว้า) เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน และได้แกะรูปเคารพสมมติว่าเป็น “เจ้าพ่อพญาแล” ไว้ภายในศาล เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้สักการะกันสืบมา ปรากฏว่าเจ้าพ่อพญาแลมีอภินิหารมหัศจรรย์มากมาย จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองชัยภูมิยิ่งนัก

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันจัดสร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทย อยู่ไม่ห่างจากศาลเดิมมากนัก ให้ชื่อว่า ศาลพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าพ่อพญาแล ภายในประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของเจ้าพ่อพญาแล ในท่านั่ง และจัดให้มีงานสักการะเจ้าพ่อพญาแลทุกปี โดยเริ่มจากวันพุธแรกของเดือน ๖ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน เรียกว่า “งานบุญเดือนหก (สักการะเจ้าพ่อพญาแล)” ถือเป็นงานประเพณีบุญใหญ่ประจำปีของชาวชัยภูมิ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน…เจ้าเมืองผู้ยอมสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องรักษาเมืองไว้ เจ้าเมืองผู้ภักดีต่อแผ่นดินไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อข้าศึก

อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันจัดสร้าง อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล (เป็นรูปจำลองหล่อด้วยโลหะ ในท่ายืนถือหนังสือ หันหน้าไปทางทิศใต้ สูง ๒๗๐ เซนติเมตร หนัก ๗๐๐ กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูง ๔ เมตร) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิและเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าเป็นมิ่งมงคลเมืองอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ ทั้งนี้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดเป็นแบบอย่างในความซื่อสัตย์ เสียสละ และจงรักภักดีต่อแผ่นดิน...ใครที่จะเข้าตัวเมืองชัยภูมิ จะต้องผ่าน ‘อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล’ นี้ด้วยกันทุกคน

ที่ฐานอนุสาวรีย์ฯ มีคำจารึกความว่า...“พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙ เป็นผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อบ้านเมือง ได้สร้างเมืองชัยภูมิและพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้เป็นที่ระลึกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘”

นับตั้งแต่มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ทุกปีในระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มกราคม เป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน จะมีงานเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ฯ เป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัด ณ บริเวณรอบวงเวียนอนุสาวรีย์ฯ และบริเวณสนามหน้าศาลากลาง โดยจะมีพิธีสำคัญประกอบด้วย พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพญาแล, พิธีถวายช้างให้เป็นบริวารเจ้าพ่อพญาแล, มีการแห่ขบวนทางศิลปวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัดชัยภูมิ จึงถือเป็นงานกาชาดประจำปีด้วย

ผู้สืบต่อตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อๆ มา ล้วนได้รับยศบรรดาศักดิ์เป็นที่ “พระยาภักดีชุมพล” ทุกคน รวมทั้งสิ้น ๕ คน ดังนี้

- พระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เดิมเป็นชาวพระนครศรีอยุธยา บ้านอยู่คลองสายบัวกรุงเก่า ตามประวัติเดิมว่าเคยเป็นพระนักเทศน์ รับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในราชสำนัก

- พระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว) ญาติพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)

- พระยาภักดีชุมพล (ที) บุตรพระยาภักดีชุมพล (แล)

- พระยาภักดีชุมพล (บุญจันทร์) บุตรพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)

- พระยาภักดีชุมพล (แสง) บุตรหลวงขจรนพคุณ, หลานปู่ของพระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว)

หลังจากที่พระยาภักดีชุมพล (แสง) เสียชีวิตเป็นต้นมา ยศบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองก็เปลี่ยนกลายเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ” ในปัจจุบันนี้

สำหรับพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือเจ้าพ่อพญาแลนั้น ท่านได้เป็นพระยาภักดีชุมพล ราว ๓ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๖๙ ก่อนเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ไม่นานนัก) และเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิถึง ๑๐ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙)


รวบรวมข้อมูลโดย - เพจ โคราชในอดีต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น