วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

“ไปลา-มาไหว้”

 “ไปลา-มาไหว้” มารยาทไทยที่เป็นวัฒนธรรมการทักทาย เวลาพบปะกันหรือลาจากกัน “การไหว้” เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการกล่าวคำว่า “สวัสดี” ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ได้เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า คนไทยเป็นคนที่มีอุปนิสัยอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ การไหว้เป็นการแสดงความมีสัมมาคารวะอย่างหนึ่ง และเป็นธรรมเนียมการทักทายและแสดงความเคารพ เมื่อจะไปโรงเรียนและเมื่อกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านลูกจะไหว้พ่อแม่ถ้ามีผู้ปกครองก็ไหว้ผู้ปกครอง เมื่อไปถึงโรงเรียนและเมื่อกลับจากโรงเรียนเด็กจะไหว้ครู การไหว้ทำให้ผู้ใหญ่รักและเอ็นดู คนที่พบเห็นก็ชื่นชม ในภาษาไทยมีคำกล่าวถึงผู้ที่มีสัมมาคารวะและได้รับการอบรมมรรยาทให้รู้จักไหว้ว่า รู้จัก “ไปลามาไหว้” หมายความว่า เมื่อมาถึงก็ ไหว้ เมื่อจะไปก็ลา

            วัฒนธรรมในเรื่องของการไหว้นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานที่ระบุไว้แน่ชัด นายพะนอม แก้วกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้ให้ความเห็นว่า การไหว้นั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสดงความรัก ความเคารพต่อกัน เนื่องจากมนุษย์มีสมอง มีพัฒนาการที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะกินอาหารอย่างไรจึงจะดีต่อสุขภาพ แต่งตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม ที่อยู่อาศัยทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย รวมไปถึงเมื่อเจอกันจะทักทาย จะแสดงความรักต่อกันอย่างไรดี โดยธรรมชาติแล้วการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกัน เป็นภาษาท่าทางที่แสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมวมักจะแสดงความรักกับเจ้าของด้วยการเข้ามาสัมผัสคลอเคลียด้วย มนุษย์ก็เช่นกันที่มีการแสดงความรักต่อกันด้วยการโอบกอด หลายประเทศทางยุโรปใช้การสัมผัสมือเมื่อพบกัน บางประเทศใช้แก้มสัมผัสกัน ใช้หน้าผากสัมผัสกัน หรือใช้จมูกสัมผัสกันก็มี แต่ทางแถบเอเชียนั้นการสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นนั้นถือว่าไม่สุภาพนัก คนทางแถบเอเชียจึงใช้การสัมผัสตัวเองเป็นการแสดงการทักทายหรือทำความเคารพ เช่นชาวจีนใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสกันเพื่อแสดงการคารวะ  อินเดียใช้ฝ่ามือทั้งสองประนมประกบกันเหมือนดอกบัวตูม เพื่อแสดงความเคารพและบูชา ของไทยเราน่าจะรับวัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย นำมาปรับปรนให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทยจึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการไหว้ที่แบ่งเป็นระดับต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้มือกับใบหน้าเป็นตัวแบ่งระดับ

            “การไหว้”  เป็นภาษาท่าทางที่ใช้แสดงความเคารพ ทักทาย โดยการยกมือสองข้างประนม พร้อมกับยกขึ้นไหว้ในระดับต่างๆ นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความหมายของ การขอบคุณ การขอโทษ การยกย่อง การระลึกถึง และอีกหลายความหมายสุดแท้แต่โอกาส  การไหว้เป็นการแสดงมิตรภาพ มิตรไมตรี ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นวัฒนธรรมที่งดงาม รวมทั้งเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย ที่ปัจจุบันกำลังเลือนหายและถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย ประเทศไทยซึ่งเคยได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมที่งดงามเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม (Land of Smile) ที่ผู้คนรู้จักไปทั่วโลก กำลังสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป ทั้งที่การไหว้เป็นมารยาทแบบไทยๆ ที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก

            เมื่อพูดถึงเรื่องการไหว้ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ไม่ทันสมัย อายที่จะปฏิบัติ หรือไม่ก็กลัวว่าจะไหว้ผิดบ้าง กลัวถูกมองว่าประหลาดบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของมารยาทไทยนั้นไม่มีคำว่าผิดหรือถูก มีแต่ความนุ่มนวล สวยงามหรือไม่เท่านั้น ดังนั้นวิธีการปฏิบัติจึงเป็นเพียงแนวทาง ที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปรับปรน ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่ ซึ่งแนวปฏิบัติในเรื่องของการไหว้นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดระดับของการไหว้ไว้ ๓ ระดับ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและใบหน้าเป็นตัวกำหนดตำแหน่ง ดังนี้

            การไหว้ระดับที่ ๑ ใช้สำหรับไหว้พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุทางพุทธศาสนา ในกรณีที่เราไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว นิ้วชี้สัมผัสส่วนบนของหน้าผาก นัยว่า พระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่ควรเคารพอย่างสูงสุด จึงยกมือที่ประนมขึ้นให้สัมผัสส่วนที่สูงสุดของร่างกาย หรืออีกนัยหนึ่งว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นดวงแก้วมณีที่ประเสริฐ มีค่าสูง คอยกำกับและสอนให้เรามีสติมีปัญญาอยู่ตลอดเวลา จึงสมควรแก่การเคารพกราบไหว้ การไหว้ในระดับที่ ๑ นี้ จึงให้ยกมือที่ประนมขึ้นให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ระหว่างคิ้วทั้งสองข้างนั่นเอง

            การไหว้ระดับที่ ๒ ใช้สำหรับไหว้ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์และผู้ที่มีเราเคารพนับถืออย่างสูง โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้สัมผัสระหว่างคิ้ว นัยว่า บุคคลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ควรแสดงความเคารพอย่างสูงรองลงมาจากพระรัตนตรัย มือที่สัมผัสส่วนของใบหน้าจึงลดต่ำลงมา หรืออีกนัยหนึ่งว่า บุคคลกลุ่มนี้ทำให้เรามีลมหายใจเกิดขึ้นมาได้ และเป็นผู้มีพระคุณที่ทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้ในสังคม ควรแก่การแสดงความเคารพการไหว้ในระดับที่ ๒ จึงให้ยกมือที่ประนมขึ้นให้นิ้วหัวแม่มืออยู่บริเวณปลายจมูก

            การไหว้ระดับที่ ๓ ใช้สำหรับไหว้บุคคลทั่วๆไป ที่มีวัยวุฒิสูงกว่าเราไม่มากนัก รวมถึงใช้แสดงความเคารพผู้ที่เสมอกันหรือเป็นเพื่อนกันได้ด้วย โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง นิ้วชี้สัมผัสบริเวณปลายจมูก นัยว่าบุคคลกลุ่มนี้ควรแก่การเคารพรองลงมาจากบิดา มารดา มือที่สัมผัสส่วนของใบหน้าจึงลดต่ำลงมาตามลำดับ หรืออีกนัยหนึ่งว่า บุคคลกลุ่มนี้ เป็นผู้ที่เราจะต้องพบปะพูดคุยอยู่ด้วยเป็นประจำ การใช้วาจาจึงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ การไหว้ระดับที่ ๓ จึงให้ยกมือที่ประนมขึ้นให้นิ้วหัวแม่มืออยู่บริเวณปลายคาง

            ในการยืนไหว้นั้น ชายให้ยืนตัวตรง ค้อมตัวลงพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ ตำแหน่งของนิ้วหัวแม่มือให้ถูกต้องตามระดับของบุคคลที่เราแสดงความเคารพ จากนั้นลดมือลงพร้อมกับยืดตัวขึ้นกลับมาในท่ายืนตรงตามเดิม

            สำหรับหญิงนั้น เมื่อยืนไหว้ ให้ถอยเท้าใดเท้าหนึ่งที่ถนัดไปข้างหลังเล็กน้อย พร้อมกับย่อตัวยกมือขึ้นไหว้ ตำแหน่งของนิ้วหัวแม่มือให้ถูกต้องตามระดับของบุคคลที่เราแสดงความเคารพ จากนั้นจึงลดมือลงพร้อมกับชักเท้าที่ถอยไปกลับมาอยู่ในท่ายืนตรงตามเดิม  หรือจะใช้การยืนตรงไหว้แบบชายก็ได้

            ส่วนการประนมมือไว้ที่ระดับอกนั้น เป็นการแสดงอาการรับไหว้ คือ เมื่อมีผู้น้อยมาแสดงความเคารพเราด้วยการกราบหรือไหว้ เราต้องแสดงอาการรับไหว้ตอบ เป็นการแสดงให้รู้ว่าเราให้ความสนใจกับผู้ที่เข้ามาแสดงความเคารพ และทำให้เขาไม่เกิดอาการเคาะเขินด้วย การไหว้และการรับไหว้จะดูนุ่มนวลและสวยงาม หากทำไปพร้อมๆ กัน  การรับไหว้ที่ให้ประนมมือขึ้นอยู่ระหว่างอกนั้น นัยว่า เป็นการแสดงออกที่มาจากใจ นั่นเอง

            เมื่อเรารู้ถึงตำแหน่งของการไหว้แล้ว การนำไปปฏิบัติก็ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ นั่งเก้าอี้ หรือนั่งกับพื้น เราก็สามารถแสดงความเคารพด้วยการไหว้ได้ทั้งสิ้น

            มารยาทในการไหว้ เป็นวัฒนธรรมไทยที่คนรุ่นใหม่อาจจะมองข้ามไป ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่โดยสำนึกของความเป็นคนไทยแล้ว เชื่อว่าในส่วนลึกของจิตใจทุกคน ยังเห็นสิ่งนี้เป็นสิ่งดีงามอยู่ เพียงแต่ กระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาทางสื่อต่างๆ ถาโถมมาอย่างมากมาย จนทำให้เยาวชนของเราหลงใหลไปบ้าง ทำให้หลงลืมสิ่งดีงามที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไป ปัจจุบันจะเห็นว่าหลายหน่วยงาน หันกลับมาให้ความสนใจความเป็นไทยมากขึ้น เห็นได้ชัดตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่มากมาย ที่พนักงานไหว้แสดงการต้อนรับและขอบคุณลูกค้า ถึงแม้จะไหว้ได้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ไหว้ได้สวยบ้างไม่สวยบ้าง แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเองเสมือนญาติพี่น้องกันมากขึ้น


บทความโดย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น